นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน บริษัทได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น (Anti – Corruption Policy) ไว้ดังต่อไปนี้
หมวด 1. คำนิยาม
“บริษัท” หมายถึง บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)และบริษัทย่อย
“บริษัทย่อย” หมายถึง บริษัทมานะพัฒนาการ จำกัด บริษัทแอ็ดวานซ์ พรีแฟบ จำกัด Myanmar NWR Company Limited บริษัท ยูลินิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด NAWARAT (CAMBODIA) Company Limited บริษัท เทสท์เมคเคอร์ จำกัด รวมตลอดจนบริษัทใดก็ตามที่บริษัทเข้าถือหุ้นต่อไปภายหลังจากที่นโยบายนี้มีผลใช้บังคับแล้ว เกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน
“ทุจริตคอร์รัปชั่น” หมายถึง การให้สินบน การรับสินบน จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบทุกรูปแบบ รวมตลอดจนการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร
หมวด 2. บุคคลผู้เกี่ยวข้อง
ห้ามคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ ของบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย กระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงธุรกิจในประเทศ,ต่างประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทปราศจากการมีส่วนร่วมในการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น
หมวด 3. หน้าที่และความรับผิดชอบ
- คณะกรรมการบริษัท
มีหน้าที่และรับผิดชอบในการอนุมัตินโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น และกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหาร ฝ่ายจัดการ พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและได้นำไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร - คณะกรรมการจรรยาบรรณธุรกิจ
มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งพิจารณา ทบทวน และปรับปรุงนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ - คณะกรรมการตรวจสอบ
มีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานให้บริษัทมีการควบคุมภายในอย่างเพียงพอ และสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น - ผู้บริหาร และฝ่ายจัดการ
มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบ ให้การส่งเสริม สนับสนุน และควบคุมดูแลเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามระเบียบนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย - หน่วยงานตรวจสอบภายใน
มีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ - กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตและคอร์รัปชั่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม - บริษัทร่วมค้า บริษัทร่วมทุน และตัวแทนทางธุรกิจของบริษัท
ต้องยอมรับและปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น
หมวด 4. ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ
- คณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกระดับรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และ จรรยาบรรณทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
- บริษัทจะสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญและมีจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งจัดให้มีการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น การให้หรือรับสินบนในทุกรูปแบบ ทุกท้องที่ และทุกประเทศที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน
- บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการกระทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชั่น ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาหรือกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบบริษัททราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่บริษัทกำหนด
- บริษัทต้องให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชั่น โดยบริษัทจะไม่ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงาน หรือบุคคลอื่นใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และบริษัทในกลุ่ม โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตและคอร์รัปชั่นตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการรับข้อร้องเรียน (Whistle Blowing Policy)
- กรรมการและผู้บริหารทุกระดับของบริษัท จะต้องแสดงความซื่อสัตย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลรับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับยึดถือนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเสริมสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
- ผู้ที่กระทำการทุจริตและคอร์รัปชั่น ถือเป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงาน ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยที่กำหนดไว้ รวมถึงอาจได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- การดำเนินการใดๆตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ใน “นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี” “คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ” รวมทั้งระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นต่อไป
- บริษัทจะสอบทานแนวปฏิบัติและมาตรการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และสภาพการดำเนินธุรกิจ
- บริษัทกำหนดให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นผ่านช่องทางต่างๆที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร เว็บไซต์ของบริษัท และรายงานประจำปี
หมวด 5. ข้อกำหนดและข้อห้าม
- เกี่ยวกับสรรหาหรือคัดเลือกบุคลากร และการเลื่อนตำแหน่ง
นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นนี้ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานว่าต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องพิจารณาตามกฎเกณฑ์ของบริษัทและสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงาน เพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลการปฏิบัติตามนโยบายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ - เกี่ยวกับการให้หรือการรับของขวัญ และผลประโยชน์อื่นใด รวมถึงการเลี้ยงหรือรับเลี้ยงรับรอง การให้ของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใด รวมถึงการเลี้ยงรับรองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทให้สามารถกระทำได้ในวิสัยอันควร ในเทศกาลหรือประเพณีนิยม หรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอันเป็นการรักษาสัมพันธภาพทางธุรกิจโดยปกติโดยกำหนดให้อยู่ในมูลค่าที่เหมาะสม พอเหมาะพอควร
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานสามารถรับของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใด รวมถึงการรับเลี้ยงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทได้ตามเทศกาลหรือประเพณีนิยม และไม่ผิดต่อกฎหมาย ของขวัญที่อาจรับได้ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท (สามพันบาท) และไม่ควรเป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด
ตัวอย่างของขวัญ ของกำนัลที่สามารถรับได้ ได้แก่
- สิ่งที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท และไม่เป็นเงินสดหรือเทียบเท่า
- สิ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการขายซึ่งประทับตราบริษัทนั้นๆ เช่น ปากกา หมวก เสื้อยืด สมุด เป็นต้น
- สิ่งที่ทำขึ้นเพื่อแจกทั่วไป เช่น แจกพนักงาน หรือแจกลูกค้าอื่นของคู่ค้า
- สิ่งที่ทำขึ้น หรือซื้อมาเพื่อแจก/มอบให้ตามเทศกาลจากคู่ค้า เช่น ปฏิทิน สมุดออกาไนเซอร์ กระเช้าของขวัญ เป็นต้น
- ประโยชน์ สิทธิพิเศษอื่นๆที่พึงให้ได้เพื่อส่งเสริมการขายจากคู่ค้า
หากกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานได้รับของขวัญในโอกาสตามประเพณีนิยมที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท (สามพันบาท) หรือมีความถี่เกินสมควรจากผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจของบริษัทให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น กรณีที่มูลค่าเกินต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าเป็นการผิดระเบียบของบริษัทและคืนให้แก่ลูกค้า กรณีที่ไม่สามารถคืนได้ให้ส่งมอบให้กับผู้บังคับบัญชาตามสายงานเพื่อดำเนินการต่อไป
ห้ามไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเรียกร้องหรือรับของขวัญ ของกำนัล หรือ ประโยชน์อื่นใดไม่ว่ากรณีใดๆที่ผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเกินความเหมาะสม
- การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทมีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง โดยจะไม่ช่วยเหลือ สนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และจะไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แอบอ้างความเป็นกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรเครื่องมือของบริษัทไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการใดๆทางการเมือง หากเข้าร่วมจะต้องพึงระมัดระวังการดำเนินการใดๆที่อาจเกิดความเข้าใจว่าบริษัทได้ให้การสนับสนุนหรือฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
- การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และเงินสนับสนุน
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคม บริษัทมีนโยบายบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และเงินสนับสนุน ทั้งในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การบริจาคสิ่งของ หรือร่วมกิจกรรม เป็นต้น บริษัทกำหนดให้ทำการบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และเงินสนับสนุน ดังนี้- เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรม ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนทางธุรกิจ รวมทั้งไม่เป็นการกระทำใดๆที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
- การให้หรือรับเงินบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ หรือเงินสนับสนุนนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
- การใช้เงินหรือทรัพย์สินของบริษัทเพื่อบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ การสนับสนุนต้องกระทำในนามบริษัทเท่านั้น และต้องมีวัตถุประสงค์ในการสร้างภาพลักษณ์ และชื่อเสียงที่ดีของบริษัท
- ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบทานและอนุมัติการบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ หรือเงินสนับสนุนตามระเบียบของบริษัท
นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป